สัมมนาประจำปี 2553 แม่น้ำโขง ณ นครพนม II

การสัมมนาวิชาการประจำปี 2553

แม่น้ำโขง ณ นครพนม II

Social and Economic Corridors of the Mekong Basin

วันพฤหัสบดีที่ 21 – วันศุกร์ที่  22  ตุลาคม  2553

ณ โรงแรมนครพนม ริเวอร์วิว  จังหวัดนครพนม

ลงพื้นที่ภาคสนาม

เวียงจัน 450 ปี –  ฮานอยพันปี

Vientiane 1560-2010 – Hanoi 1010 – 2010

วันเสาร์ 23  – วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2553 (6 วัน/5 คืน)

ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

วิทยากรท้องถิ่น และวิทยากรพิเศษ :  ดร.ชาญวิทย์  เกษตรศิริ และคณะ

ความเป็นมา

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในฐานะอาณาบริเวณหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นอาณาบริเวณที่มีความสำคัญอย่างมากในกระแสความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคในปัจจุบัน

ดินแดนแห่งนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม พลังแห่งวิถีของชุมชน และเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกทางน้ำที่ต่างเป็นสมบัติอันล้ำค่าของผู้คนในแถบนี้ ที่เชื่อมโยงกันอยู่เหนือกว่าพรมแดน

ใดๆของรัฐชาติ    การพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลงได้นำความมั่งคั่งมาสู่ดินแดนแห่งนี้ แต่ขณะเดียวกันผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ดำเนินคู่ขนานไปพร้อมกันๆ

ทุกวันนี้องค์ความรู้เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนั้น จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มและแยกส่วน  อยู่ในหมู่นักวิชาการ ผู้วางแผนนโยบาย นักเคลื่อนไหว ภาคประชาสังคมทั้งในแวดวงธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และพัฒนาสังคม    ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่การบูรณการทางความรู้ชุดนี้ต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความตระนักรู้ถึงคุณค่าต่างๆที่หลอมรวมอยู่ในอนุภูมิภาคแห่งนี้ อันจะนำไปสู่การยู่ร่วมกันอย่างสันติ รู้และเข้าใจเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่จัดขึ้นเป็นครึ่งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา ได้เป็นหลักหมายที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประชาคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  เพราะบรรดาผู้นำและผู้เกี่ยวข้องได้ “ยอมรับ” แล้วว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลอดสายแม่น้ำโขงแห่งนี้ ทั้งเรื่องปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง น้ำแห้งขอด มลพิษทางน้ำ การลดลงของทรัพยากรทางน้ำในแม่น้ำโขง ปัญหาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และภาวะหมอกควัน ที่กำลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนโดยตรง การประชุมครั้งนี้ ยังยอมรับ

ว่าปัญหาที่กล่างมาเหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเอกชนและภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

รายงานข่าวที่ว่า เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2553  หรือ ค.ศ. 2010 ที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ลดลงจนถึงจุดต่ำสุดในรอบ 50 ปี นับว่าเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญต่อทุกคนในประชาคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้  ว่า การพัฒนาแม่น้ำโขงนั้นไม่สามารถจะมองผ่านมิติการพัฒนาทางเศรษฐกิจและพลังงานเพียงอย่างเดียว ได้อีกต่อไป

ด้วยตระหนักถึงพันธกิจทางวิชาการ การสัมมนาครั้งนี้จึงเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นกิจกรรมแห่งความร่วมมือในวงวิชาการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยความริเริ่มของสถาบัน  มูลนิธิ   และองค์กรต่างๆ  ทางด้านวิชาการ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และได้จากความร่วมมือจากมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย  กับ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ส่งเสริมและให้การสนับสนุนการศึกษาการวิจัยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายพรมแดนความรู้และสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาแก่คนและสังคมไทยให้เป็นสังคมที่อุดมไปด้วยปัญญา ดังพุทธภาษิตที่ว่า  “นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา” แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี

วัตถุประสงค์

1.   เพื่อส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ข้อมูลในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านคมนาคม  เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว วัฒนธรรม วิถีชุมชน และนิเวศวิทยา

2.  เพื่อกระตุ้นให้มีการนำเอาความรู้และความเข้าใจที่ได้ ไปปรับให้เอื้อต่อการสร้างความเข้าใจอันดีของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

3.   เพื่อมุ่งสร้างคุณค่าและองค์ความรู้ และพัฒนาบุคคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองสังคมไทย

ระยะเวลาของการสัมมนา วันที่ 21 – 22 ตุลาคม 2553   และ ภาคสนามวันที่  23 – 28 ตุลาคม 2553

ผู้เข้าร่วมสัมมนา ครู-อาจารย์  นักเรียน นิสิต  นักศึกษา  และบุคคลทั่วไป  500  คน

การแสดงความเห็นถูกปิด